irpg Community
อุปกรณ์ที่พบได้ทั่วไปในเกมแฟนตาซีครับ - Printable Version

+- irpg Community (https://irpg.in.th)
+-- Forum: Imperial School of Art, Literature and Design (https://irpg.in.th/forum-41.html)
+--- Forum: Literature & Design Library (https://irpg.in.th/forum-14.html)
+--- Thread: อุปกรณ์ที่พบได้ทั่วไปในเกมแฟนตาซีครับ (/thread-3008.html)



อุปกรณ์ที่พบได้ทั่วไปในเกมแฟนตาซีครับ - Kuruni - 12-01-2016

ข้อมูลจากเนื้อหาเปิดของ Ultimate Equipment ที่Pathfinder RPG Reference Document ครับ ตอนนี้เอาแค่เกราะเบาก่อน

เกริ่นนำก่อนเล็กน้อย เกราะใน Pathfinder แบ่งเป็นสามหมวดคือเกราะเบา กลาง และหนัก ซึ่งตัวละครจะได้ความชำนาญในการสวมเกราะแต่ละหมวดมาตามคลาสหรือใช้ฝีมือ (feat) ที่ได้เพิ่มมาตามเลเวล แต่ไม่ว่ากรณีไหนตัวละครที่มีความชำนาญเกราะที่หนักกว่าก็ต้องมีความชำนาญเกราะที่เบากว่าก่อน

เกราะแต่ละแบบนั้นจะมีค่าสำคัญในเกมคือ ราคา (ฮ่าๆ) โบนัสเกราะ (แทนพลังป้องกัน ลดโอกาสที่ทำให้ศัตรูจะโจมตีโดน ถ้าใครงง ก็คิดซะว่าการ"หลบ"ในที่นี้รวมที่เวลาโดนโจมตีแล้วเกราะกันไว้ได้ด้วย) โบนัสความคล่องแคล่วสูงสุดที่ใช้ได้ (แทนความคล่องตัว เกราะที่ค่านี้สูงๆหน่อยก็ประมาณว่าคนธรรมดาสวมแล้วอาจไม่รู้สึก แต่ตัวที่ไวมากๆจะรู้สึกขัด) ค่าหักเกราะ (ตัวแทนความเกะกะและหนักของเกราะ ทำให้เวลาทำอะไรที่ต้องใช้ความคล่องแคล่วหรือกำลังแล้วจะยากขึ้น ตัวละครที่สวมเกราะที่ตนไม่มีความชำนาญนั้นจะโดนหักความแม่นตอนโจมตีด้วยอีกอย่าง) โอกาสร่ายคาถาพลาด (คาถาที่ต้องออกท่ามากๆ พอสวมเกราะแล้วจะมีโอกาส"ผิดท่า"น่ะ) แล้วก็น้ำหนัก (มีไว้คิดเวลาแบกน้ำหนักของที่แบกๆอยู่)

เกราะเบาชั้นดีๆกับเกราะกลางห่วยๆนั้นบางทีพลังป้องกันกับความคล่องตัวไม่ต่างกันเลย แต่ที่ต่างกันคือเกราะกลางนั้นสวมแล้วความเร็วในการเดินจะลดลงด้วย อีกอย่างคือเกราะเบานั้นเป็นเกราะที่สวมเข้านอนได้ ตัวละครที่สวมเกราะหนักหรือกลางเข้านอนวันรุ่งขึ้นจะติดสถานะล้า (fatigue) แต่เกราะที่ตีจากมิธริลนั้นจะนับว่าเบากว่าเดิมขั้นหนึ่ง ฉะนั้นเกราะกลางที่ตีจากมิธริลก็จะนับเป็นเกราะเบา แต่มีพลังป้องกันเท่าเดิม

อนึ่ง Pathfinder ไม่นับพวกเสื้อผ้าทั่วๆไปเป็นเกราะนะ ผมเขียนแค่ลักษณะภายนอก ใครสนใจค่าพลังที่กล่าวไปแล้วตามลิงค์ไปดูเอง

Haramaki
ผ้าคาดพุง แบบที่นับเป็นเกราะนี้จะมีข่ายโซ่หรือแผ่นเหล็กร้อยไว้รอบๆป้องกันอวัยวะภายใน

Padded
ผ้านวม ยัดไส้หลายๆชั้นให้หนาเข้าไว้ นับเป็นเครื่องป้องกันราคาถูกแต่คล่องตัว

Quilted cloth
Padded ที่ออกแบบให้ชั้นในของผ้ามีโครงสร้างที่กันไม่ให้อาวุธแทงเล็กๆอย่างธนูกลของกับดักหรือลูกดอกแทงไปถึงตัวคนสวมได้ แต่กับอาวุธอื่นๆก็ไม่ต่างจาก padded (แต่ราคาแพงกว่ามากมาย)

Silken ceremonial
ชุดพิธี เป็นผ้าหลายชั้นโดยที่ชั้นนอกสุดเป็นผ้าไหมปักทองกับกระดุมเหล็ก สามารถสวมทับเกราะที่หนักกว่าได้ แต่ในกรณีนั้นจะไม่เพิ่มพลังป้องกันแต่อย่างใด

Lamellar cuirass
ชุดเกราะที่ประกอบด้วยเกราะอกแบบเบากับเกราะไหล่ที่ทำจากหนังเคลือบยางไม้ เย็บเข้าด้วยกันบนเสื้อ

Leather
ชุดเกราะหนัง ทำจากแผ่นหนังเอาไปต้มเพิ่มความทนทานแล้วเอามาเย็บเข้าด้วยกัน เป็นชุดเกราะยอดนิยมแบบหนึ่งเพราะถึงจะไม่ทนทานเท่าเกราะเหล็กแต่ความคล่องตัวอยู่ในระดับดี แถมยังราคาถูกโดนใจผู้กล้ามือใหม่

Parade
ชุดเดินสวนสนามของประเทศที่กองทัพมีระดับพอสมควร ลักษณะของชุดแบบนี้จะต่างกันไปตามแต่กองทัพ แต่จะเป็นชุดเกราะเสมอแม้จะไม่มีพลังป้องกันเท่าชุดรบจริง ประโยชน์ของชุดนี้ก็คือมีไว้บอก(หรือหลอก)คนอื่นว่าเป็นเป็นคนในกองทัพ

Studded leather
ปรับปรุงมาจากชุดเกราะหนังโดยติดปุ่มเหล็กไว้เป็นแนวตามจุดสำคัญ พลังป้องกันจะสูงกว่าเดิมแต่ความคล่องตัวก็ลดลงไป

Wooden
เกราะหนังที่เสริมด้วยแผ่นไม้ผิงไฟเสริมความแข็งแกร่งปิดตามจุดสำคัญ พลังป้องกันสูงกว่าเกราะหนังล้วนๆแต่ไม่เท่าเหล็ก จุดเด่นของเกราะนี้คือไม้มันลอยน้ำนิดๆ เวลาว่ายน้ำจึงง่ายกว่าเกราะเหล็ก

Chain shirt
เกราะที่ถักด้วยโซ่เหล็กขนาดเล็ก สวมป้องกันลำตัวทั้งตัว

Lamellar (leather)
Lamellar เป็นเกราะประเภทที่้แผ่นวัสดุมาเย็บกันเป็นแถวๆเรียงกัน แบบที่เป็นเกราะเบานี้ทำจากหนังเคลือบยางไม้


RE: อุปกรณ์ที่พบได้ทั่วไปในเกมแฟนตาซีครับ - Mysticphoenix - 12-01-2016

สาระๆ ปกติซื้อของมาใส่นี่อ่านๆแล้วไม่รู้เลยคืออะไร รู้แค่อันไหนDEFสูงกว่า


RE: อุปกรณ์ที่พบได้ทั่วไปในเกมแฟนตาซีครับ - arkman - 12-02-2016

ถ้าเป็นชุดเกราะแบบแผ่นเล็กร้อยต่อกันแบบจีนหรือญี่ปุ่น จะเบากว่าเกราะเหล็กแบบฝรั่งไหมครับ


RE: อุปกรณ์ที่พบได้ทั่วไปในเกมแฟนตาซีครับ - Kuruni - 12-02-2016

ถ้าเป็นแบบ lamellar ก็เหมือนกันนะ แต่มีประเภทอื่นๆด้วย

ตอนนี้เป็นเกราะกลางครับ ถือเป็นเกราะมาตรฐานของผู้กล้าสายนักรบที่ไม่ใช่พวกตัวยักษ์

เพิ่มเติมอีกหน่อย Pathfinder นั้นปกติแล้วถือว่าคนสวมเกราะจะสวมทั้งชุด (มีกฏพิเศษสำหรับการสวมเป็นชิ้นๆ แต่การเอาเกราะคนละแบบมาปนกันจะยิ่งเกะกะกว่าปกติ) ถุงมือเหล็กนั้นปกติแล้วไม่ช่วยเรื่องพลังป้องกัน แต่เพิ่มพลังชกแทน (ใน Pathfinder ถ้าไม่มีฝีมือหรือความสามารถ Improved Unarmed Strike แล้ว การชกจะเป็นความเสียหายแบบไม่ถึงชีวิต(nonlethal damage) ต่อยกันเสร็จลงไปนอนแล้วถ้าไม่โดนซ้ำให้ตาย ปล่อยไว้ก็จะหายเอง ไม่ต้องฮีลไม่ต้องทำแผล แต่สวมถุงมือเหล็กแล้วจะกลายเป็นแบบปกติ)

อ้อ เท่าที่รู้ กฏอย่างเป็นทางการไม่มีพูดถึงชุดเกราะแบบบิกินีของสาวๆนะ (พบเห็นได้บ่อยบนปกวารสารแฟนตาซีของฝรั่ง)

Armored coat
เสื้อนอกหนังเสริมแผ่นเหล็ก เกะกะพอๆกับเกราะกลางโดยทั่วไปแต่พลังป้องกันไม่สูงเท่า แต่มีข้อดีคือหยิบมาสวมได้โดยเร็ว และสามารถสวมทับเกราะอื่นๆได้ซึ่งในกรณีที่ใช้เกราะเบาที่พลังป้องกันน้อยๆอย่างเกราะหนัง (leather) ก็จะเพิ่มพลังป้องกันได้ แล้วเวลาต้องออกท่ามากๆค่อยถอดออก

Hide
เกราะหนังแบบที่ทำจากหนังของสัตว์ที่มีหนังหนาเป็นพิเศษ เอามาตากแดด แล้วเอามาเย็บซ้อนๆกันกับแผ่นหนังธรรมดาหรือบุนวมกับขนสัตว์

Do-maru
เกราะที่เบาที่สุดที่นับเป็นเกราะมาตรฐานของซามูไร โดยทั่วไปแล้วเป็นเกราะแบบ lamellar รัดไว้รอบลำตัวโดยไม่มีแผ่นเกราะอกหรือแขนเสื้อเพื่อให้ไม่เกะกะนัก

Kikko
ชุดเกราะที่ทำจากผ้าเสริมความแข็งแกร่งด้วยการเย็บแผ่นเหล็กรูปหกเหลี่ยมเล็กๆ ซึ่งแผ่นเหล็กนี้อาจปล่อยไว้เท่ๆหรือปิดซ่อนไว้ใหต้ผ้าอีกที นับว่ายืดหยุ่นกว่าเกราะที่มีพลังป้องกันพอๆกัน

Lamellar (horn)/(steel)
lamellar ที่เป็นเกราะกลางมีแบบทำจากแผ่นแกะจากเขาสัตว์กับที่ทำจากแผ่นเหล็กกล้า แบบเหล็กกล้าจะมีพลังป้องกันดีกว่า แต่ความคล่องตัวด้อยกว่า

Scale mail
ชุดเกราะที่ทำจากแผ่นเหล็กแบบเกล็ดเอามาซ้อนๆกัน การเรียงตัวของแผ่นเกล็ดนี้จะพยายามให้เกะกะผู้สวมใส่น้อยที่สุดซึ่งก็ทำให้ซ้อนไม่หนามากไปด้วย ชุดแบบนี้ปกติแล้วจะรวมถุงมือเหล็กด้วย

Breastplate
เกราะแบบป้องกันลำตัวผู้สวมใส่ ทำจากเหล็กแผ่นเดียวตีขึ้นรูป ความทนทานสูงแต่ขาดความยืดหยุ่นและเปิดด้านหลัง

Agile breastplate
breastplate แบบที่ประกอบและเปิดช่องให้เคลื่อนไหวได้มากกว่าปกติ เวลาปีนหรือกระโดดจะขยับได้ง่ายกว่าหน่อย แต่นอกนั้นแล้วไม่ต่างกัน

Chainmail
คล้ายกับ chain shirt แต่ข่ายโซ่นั้นคลุมลำตัวทั้งตัวและมีแขนเสื้อเกือบถึงข้อมือด้วย (มีถุงมือเหล็กแถม) บริเวณอวัยวะสำคัญข้ายโซ่จะหนากว่าปกติ

Four-mirror
เกราะที่ประกอบจากแผ่นเหล็กสี่ชิ้นโยงไว้ด้วยสายหนังรัดไหล่ เป็นแผ่นใหญ่สองแผ่นปิดหน้าหลังกับแผ่นเล็กปิดสีข้าง ปกติแล้วจะสวมคู่กับ chainmail มีถุงมือเหล็กติดหนามกับ chainmail แบบสวมหัวด้วย

Mountain pattern
เกราะที่ประกอบจากเหล็กกล้าชิ้นเล็กๆรูปร่างเหมือนตัวอักษร"ภูเขา"(山)ยึดเข้าด้วยกันบนผ้าหรือหนัง ประกอบด้วยเกราะลำตัว ไหล่ และต้นขา


RE: อุปกรณ์ที่พบได้ทั่วไปในเกมแฟนตาซีครับ - Kuruni - 12-03-2016

เกราะหนัก ระดับนี้เป็นของที่ตัวเอกไม่ค่อยจะใช้กัน แต่เป็นของประจำของพี่บึ้กประจำทีม ราคาก็เอาเป็นว่าถ้าเจอในร้านตอนเริ่มเกมก็ได้แต่มองตาปริบๆ ใน Pathfinder เกราะหนักนั้นเวลาเดินจะยังช้าเท่าเกราะกลาง แต่เวลาวิ่งจะช้ากว่า

Splint mail
เกราะแบบนี้จะประกอบจากแผ่นเหล็กยาวซ้อนๆกันยึดบนแผ่นหนังหรือผ้า มีถุงมือแถม ความทนทานสูงกว่า scale mail แต่ขยับตัวยากกว่ามาก

Banded mail
คล้ายๆกับ splint mail แต่แทนที่จะใช้แผ่นเหล็กล้วนๆก็จะมีโซ่ยึดไว้บนแผ่นหนัง ความทนทานพอๆกับ splint mail แต่ขยับตัวง่ายกว่าหน่อย

Lamellar (iron)/(stone)
lamellar แบบที่เป็นเกราะหนักจะทำจากเหล็กหรือแผ่นหิน

Tatami-do
ชุดเต็มยศแบบหนึ่งของซามูไร ใช้ชิ้นส่วนผสมกันระหว่าง lamellar กับ kikko รวมเป็นชุดทับบนผ้า ปกติแล้วจะมีหมวกเหล็กกับเครื่องป้องกันแขนขาด้วย

Kusari gusoku
tatami-do แบบที่ใช้เกราะอกแบบโซ่ ราคาถูกกว่าแต่ขยับตัวยากกว่า

Full plate
เรียกอีกอย่างว่า platemail ชุดเกราะแบบเต็มยศที่ประกอบจากแผ่นเกราะแบบต่างๆ มีหมวกเหล็ก ถุงมือเหล็ก รองเท้าหนังหนา และผ้านวมสำหรับสวมไว้ด้านในเกราะแถมให้ เกราะแบบนี้จะราคาแพงระยับเพราะเป็นของสั่งทำเฉพาะซึ่งช่างจะตีให้พอดีตัวคนสวม ทำให้ขยับตัวง่ายกว่าที่เห็น ถ้ายึดมาจากชาวบ้านก็ต้องตีใหม่ก่อนเป็นส่วนใหญ่

Half-plate
full plate แบบที่ใช้โซ่แบบ chainmail ปนกับแผ่นเกราะ เนื่องจากไม่ใช่ของสั่งทำเฉพาะจึงด้อยกว่า full plate ทั้งพลังป้องกันและความคล่องตัว

Agile half-plate
Half-plate ที่ได้รับการออกแบบให้ขยับตัวได้ง่ายขึ้น เวลาปีนหรือกระโดดจะขยับได้ง่ายกว่าหน่อย และยังเป็นเกราะหนักแบบเดียวที่วิ่งได้เร็วพอๆกับเกราะกลาง

O-yoroi
ชุดเต็มยศอีกแบบของซามูไร เรียกได้ว่าเป็น full plate ของตะวันออกก็ได้ ส่วนเกราะอกจะประกอบด้วยตัวเสื้อแบบ kikko กับแผ่นเสริมอกด้านขวาแยกออกมาเรียกว่า waidate ซึ่งช่วงบนจะเป็นหนังปิดด้วยแผ่นเหล็ก สายรัดไหล่ก็มีแผ่นเหล็กปิด เกราะไหล่แบ lamellar แขนเสื้อแบบ kikko ส่วนขาเป็นผ้านวมเสริมด้วยเกราะแข้งเหล็ก แล้วก็กระจับเหล็ก ปกติแล้วจะมีหมวกเหล็กกับหน้ากากด้วย เทียบกับ full plate แล้วพลังป้องกันต่ำกว่าเล็กน้อย แต่คล่องตัวกว่าเล็กน้อยด้วยเช่นกัน

Stoneplate
ชุดเกราะแผ่นหินของคนแคระ แกะจากหินบะซอลท์ที่เสริมความทนทานด้วยการแปรธาตุ(เคมี) หนักและเกะกะมาก แต่ความทนทานเทียบได้กับ full plate (ประโยชน์หลักๆคือดรูอิดคนแคระซึ่งสวมเกราะเหล็กไม่ได้)


RE: อุปกรณ์ที่พบได้ทั่วไปในเกมแฟนตาซีครับ - Kuruni - 12-06-2016

เครื่องป้องกันที่สำคัญรองลงมาจากเกราะนิดนึงครับ โล่

Buckler
โล่เล็ก ใช้สายรัดไว้กับแขน พลังป้องกันน้อยแต่เบา แขนข้างที่ติดโล่นั้นมือยังว่าง สวมแล้วก็ยังใช้ธนูใช้หน้าไม้ได้ตามปกติ หรือจะถืออาวุธด้วยก็ได้ (ทั้งถืออาวุธคู่และใช้อาวุธสองมือ) แต่กรณีหลังนี้น้ำหนักโล่จะถ่วงหน่อยๆ สายผู้ใช้คาถาจะใช้มือที่ว่างออกท่าร่ายคาถาก็ได้ แต่ทั้งการถืออาวุธสองมือและการร่ายคาถาจะทำให้ใช้โล่ป้องกันตัวไม่ได้

Light
โล่เบา ใหญ่กว่าโล่เล็ก นอกจากสายรัดแล้วยังมีที่จับซึ่งต้องใช้มือกุมไว้ให้มั่นคงเวลารับการโจมตี มือที่ติดโล่จะพอถืออะไรๆได้แต่ถืออาวุธไม่ได้ มีสองแบบคือไม้กับเหล็กกล้า ซึ่งนอกจากราคากับน้ำหนักแล้วก็นับว่าพอๆกัน โล่เล็กนี้ยังใช้ฟาดศัตรูเป็นอาวุธได้ (Shield Bash)

Light quickdraw
โล่เบาที่ออกแบบสายรัดเป็นชุดให้สามารถเหวี่ยงไปสะพายหลังหรือเอาขึ้นมือได้อย่างรวดเร็วกว่าปกติ พลังป้องกันเท่ากับโล่เบา แต่เกะกะกว่าหน่อย

Klar
โล่แบบคนป่าซึ่งใช้กะโหลกของสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่มีเขาหรือนอ แต่ก็มีที่ตีจากเหล็กด้วย พลังป้องกันเท่ากับโล่เบาที่ติดหนามให้ใช้เป็นอาวุธได้ดีกว่าเดิม

Madu
โล่กลมขนาดเล็กที่เอาเขาสัตว์มาติดให้ยื่นไปสองด้าน ถ้าใช้ชำนาญแล้วจะใช้ในการต่อสู้แบบตั้งรับได้ดีกว่าโล่ธรรมดา พลังป้องกันเท่ากับโล่เบาแต่ถืออะไรไม่ได้ madu แบบดั้งเดิมนั้นทำจากหนังกับเขาสัตว์ แต่ก็มีที่ตีจากเหล็กทั้งอันด้วย

Heavy
โล่หนัก พลังป้องกันสูงกว่าโล่เบาแต่ต้องใช้มือจับไว้ตลอดเวลา มีแบบไม้และเหล็กกล้าด้วยเช่นกัน ใช้ฟาดได้แบบโล่เบา

Tower
โล่ไม้ขนาดใหญ่ที่บังตัวคนถือได้มิด หนักจนต้องใช้มือจับไว้ตลอดเวลาและใช้ฟาดไม่ได้ เกะกะสุดๆ แต่โล่ทาวเวอร์นั้นสามารถตั้งเป็นเหมือนกำแพงไว้ด้านหนึ่งได้ซึ่งใช้ป้องกันตัวได้ดีมาก


RE: อุปกรณ์ที่พบได้ทั่วไปในเกมแฟนตาซีครับ - Kuruni - 12-10-2016

ตอนแรกว่าจะเขียนถึงเสื้อผ้า แต่ดูๆแล้ว ข้าวห่อ สนุกกว่า ในเกมที่มีค่าความหิว ตัวละครก็ต้องกินอาหาร ซึ่งถ้าเป็นในเมืองในหมู่บ้านก็หาตามร้าน แต่ถ้าอยู่ระหว่างการผจญภัยก็มีสองทาง หนึ่งคือล่าเอาแถวๆนั้น สองคือพกข้าวห่อ (อาจจะเป็นอาหารกระป๋องก็ได้) ในเกมที่ไม่มีเวลาไม่มีความหิวก็คิดซะว่าแถมมาในเต็นท์ก็แล้วกัน

(หมวดอาหารและเครื่องดื่ม)

ข้าวห่อของนักเดินทางในที่นี้เรียกว่า trail rations มีลักษณะเหมือนกันคือกินพออิ่มได้หนึ่งวัน และถ้าเก็บดีๆไม่ให้ถูกน้ำก็เก็บได้นานเป็นเดือนๆโดยไม่บูด สูตรที่พบได้ทั่วไป (ตามร้านมนุษย์) จะประกอบด้วยขนมปังกรอบ เนื้อแดดเดียว กับผลไม้อบแห้ง

เผ่าอื่นๆจะมีสูตรยอดนิยมของตนเอง

Dwarven trail rations
สูตรคนแคระ มีไส้กรอกรมควัน เนื้อเค็ม แซมด้วยขนมปังแข็งกับผักแห้ง

Elven trail rations
สูตรเอลฟ์ เป็นขนมปังนุ่มๆที่ทำจากข้าวโอ็ตผสมกับธัญพืชและผลไม้จำพวกลูกเบอร์รีกับถั่ว เพิ่มความหวานด้วยน้ำผึ้ง เวลากินขนมปังนี้จะเพิ่มรสชาติด้วยผลไม้แห้งกับถั่วอีก

Gnome trail rations
โนมไม่มีสูตรตายตัว เพราะโนมไม่ชอบความซ้ำซากจำเจ อาหารที่ผ่านการถนอมอาหารทุกรูปแบบพบได้ในข้าวห่อของโนม

Halfling trail rations
สูตรฮาล์ฟลิง ในฐานะเผ่าที่นิยมการกิน ปกติแล้วข้าวห่อฮาล์ฟลิงจะกินได้นานกว่าหนึ่งวัน ส่วนใหญ่แล้วมีผลไม้อบแห้ง(เน้นหวาน) ไส้กรอก ชีส เค้กน้ำผึ้ง กับอาหารย่างที่ผสมจากธัญพืช ถั่ว และกากน้ำตาล

Orc trail rations
สูตรออร์ค ประกอบด้วยขนมปังแข็งหยาบสีดำ ไส้กรอกแห้งๆที่เหนียวจนน่าเอาไปทำเกราะและต้องเคี้ยวอยู่นานสองนานกว่าจะกินได้ เนื้อแห้งซึ่งไม่อาจระบุที่มาได้ แล้วก็พริกสุดเผ็ด

ของกินนักเดินทางอื่นๆ
Travel cake mix
ส่วนผสมของแป้งสาลี นมผง เกลือ และน้ำตาล ถ้าเก็บอย่างมิดชิดก็อยู่ได้เป็นเดือนๆ เอาไว้ผสมกับน้ำ (อาจใส่ไข่ด้วยได้) ก็จะสามารถทำขนมปังหรือเค้กที่ต้องใช้เวลาเร็วๆได้ง่าย

Wandermeal
เค้กแข็งแห้งซึ่งเป็นผลงานคิดค้นของพวกฮาล์ฟลิง ทำจากแป้งสาลี น้ำ และเครื่องเทศ เก็บได้นานเป็นเดือนและอิ่มท้อง แต่ถ้ากินนานๆอย่างเดียวจะเลี่ยน